ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทพิสูจน์ทีมข่าวในสถานการณ์น้ำท่วม

"น้ำท่วม อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  ความเสียหายเกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนของชาวบ้านครอบคลุมพื้นที่ 2 หมื่นไร่"

   นั่นเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่  23 พฤษภาคม 2560  ที่ทำให้ผมรู้ว่า   สถานการณ์น้ำป่าไหลหลากจากอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร  กำลังไหลท่วมอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  พื้นที่รอยต่อระหว่าง 2 จังหวัด

"หิน ดูน้ำท่วมนะ จุดไหนท่วมหนักเอาทีมไปไลฟ์ยูรายงานสดเข้ารายการเช้าได้เลย เช่นสถานการณ์ที่สุโขทัย"

   เป็นคำสั่งจากพี่สมา ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว  ที่ได้เรียกผมเข้าไปคุยประเด็นข่าวประจำวัน แน่นอนว่าทันทีที่ได้รับคำสั่ง ผมและทีมต้องเตรียมตัวเดินทางด่วนไปยังอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย

 "พี่เปิ้ลครับ  เราต้องไปสุโขทัย ภายใน 4  ชั่วโมงนี้  เก็บของนะพี่  น้ำท่วมคีรีมาศ"
"พี่ไซครับสะดวกไหมพี่  เราต้องไปภายใน  4  ชั่วโมงนี้ "
"พี่ต่อครับ  เราต้องไปไลฟ์ยูเช้าน้ำท่วมที่สุโขทัย แต่เราต้องเก็บข้อมูลคืนนี่้ เพื่อเอาไว้รายงานสดเช้า"

  ผมรีบโทรหาทุกคนที่อยู่ในทีมข่าว  ไม่ว่าจะเป็นพี่เปิ้ลช่างภาพ 1  พี่ไซช่างภาพ 2 พี่ต่อฝ่ายไอที  เรามีเวลา  4  ชั่วโมงให้ทุกคนกลับบ้านไปเก็บสิ่งของจำเป็นของแต่ละคน



สิ่งของจำเป็นถูกจัดเข้ารถแบบรีบๆ ก่อนออกจากบ้านมายังสถานี



เวลาผ่านไป  4  ชั่วโมง  ทุกคนเดินทางกลับมายังสถานี

"พี่เปิ้ลอุปกรณ์ขอเป็นกล้องp2  กล้องโกรโปร และโดรนถ่ายมุมสูง"


    นักข่าวจะรู้ว่าก่อนออกไปทำงาน  อุปกรณ์ชนิดใดที่จำเป็นบ้าง  เราจะถ่ายอะไรบ้าง  การระบุอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก  แต่สำคัญกว่านั้น คือ ห้ามลืมอุปกรณ์สำคัญๆ  เช่นถ้าคุณลืมไมค์ นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีอุปกรณ์เก็บเสียง  หากคุณลืมการ์ดกล้อง คุณจะมีแค่กล้องแต่ไม่มีการ์ดบันทึกไฟล์ภาพ ดังนั้นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่เราจะไม่มองข้าม แม้ว่าเวลาเร่งรีบก็ตาม เราควรเช็คอย่างละเอียด ถ้าไปถึงสนามข่าวแล้ว เรากลับลืมอะไรสักอย่าง  มันจะเสียเวลายิ่งกว่าเรานั่งเช็คสิ่งของจำเป็นซะอีก

"พร้อมแล้วไปกันเลยพี่  เดี๋ยวเราใช้เวลาประมาณ 6  ชั่วโมงน่าจะถึงคีรีมาศ เผื่อแวะ และไม่รีบ เอาปลอดภัยทุกคน  ผมนัดแหล่งข่าวไว้แล้ว ให้เเขาพาเราเข้าพื้นที่น้ำท่วมตอน 4  ทุ่ม  อาจดึกหน่อยนะ   เราต้องใช้ไฟส่องไปหาชาวบ้านน้ำท่วม  อาจเหนื่อยหน่อย  เป็นไปได้เราอาจนอนน้อยนะคืนนี้




เรามุ่งหน้าออกจากกรุงเทพเวลาบ่าย 4 โมงเย็น















    ระหว่างนั่งรถไปยังอำเภอคีรีมาศ ผมแอบนึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปลายปี  2559  ครั้งนั้นมีฝนตกหนัก น้ำท่วมหลายพื้นที่ทางภาคใต้  ถนนเพชเกษมสายหลักลงภาคใต้ถูกตัดขาด รถบนถนนจมน้ำ  น้ำป่าไหลหลากลงจากเขาอย่างฉับพลัน  บ้านเรือนและสถานที่ราชการหลายแห่งถูกน้ำท่วม หมู่บ้านบางแห่งถูกตัดขาดจากกระแสน้ำป่าโดยเฉพาะโรงพยาบาลบางสะพานที่ต้องเร่งอพยพคนป่วยขึ้นตึกสูงในค่ำคืนนั้น

  ผมและทีมงานเดินทางออกจากกรุงเทพราวตี  1  ไปยังอำเภอบางสะพาน  แต่ด้วยฝนที่ตกกระหน่ำตลอดเส้นทางทำให้เราทำความเร็วไม่ได้   กระทั่งเวลาจวนจะเข้ารายงานสดช่วง 6 โมงเช้า  สิ่งที่เราเผชิญ  คือ น้ำป่าตัดถนน  รถติดบนถนนเพชรเกษมทั้งขาขึ้นและขาลงนับ 10  กิโลเมตร  เพราะถนนถูกตัดขาด  3 จุด

 "เราต้องตั้งจีพีเอส ให้มันพาเราไปทางลัด  ถ้าเราติดแบบนี้คงอยู่ข้ามวัน  เราจะไปไม่ถึงโรงพยาบาลบางสะพาน"

พี่เปิ้ลช่างภาพพูดขึ้นมา  ในสถานการณ์บีบบังคับให้พวกเราต้องรีบและเลือกว่าจะไปต่อหรือหยุด  เพราะในทีมไม่มีใครชินเส้นทาง

"เอาซิ  ไปทางลัด  พี่จ้อนตัดเข้าไปในซอยนี่เลย  จีพีเอสมันบอกตัดถึง รพ. บางสะพาน"

ผมเริ่มบอกให้พี่จ้อน ช่างภาพ 2  ขับรถตามเส้นทางลัดเพื่อเลี่ยงรถติด   กระทั่งเราเริ่มตื่นกลัวมากไปกว่ารถติด เมื่อเส้นทางเบื้องหน้าเต็มไปด้วยมวลน้ำหลากท่วมถนนสูงเกือบครึ่งรถข่าวของเรา




สภาพน้ำท่วมถนนในซอยหมู่บ้านก่อนถึง รพ. บางสะพาน  5 กิโลเมตร



   เสียงน้ำหลากดังสนั่น  ไม่มีชาวบ้านสักคนให้เราได้พึ่ง  แม้จะมีพวกเขาคงช่วยอะไรเราไม่ได้ หากถูกกระแสน้ำพัดเราจริงๆ เพราะตอนนี้เวลาเกือบ ตี  4  มันเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านหลับนอน

"หิน เป็นไงบ้าง  ถึงจุดรึยัง"

บก. โน๊ตโทรถาม เพื่อเช็คความพร้อม

"ตอนนี้รถเราอาจไปต่อไม่ได้ เพราะกระแสน้ำสูงและเชี่ยวครับ  เดี๋ยวผมจะลองพยายามพารถไปให้ถึง รพ. บางสะพานนะครับ  ยังไงผมติดต่อกลับนะครับพี่"

"ดูแลตัวเอง และทีมด้วย  ขอบคุณทุกคน"

ทันทีที่ บก. วางสาย ผมก็เดินเท้าฝ่าสายน้ำเกือบถึงเอวไปตามถนน  เพื่อให้รู้ว่ากระแสน้ำมันแรงและเชี่ยวขนาดไหน   ผมนี่ก็บ้า  ถ้าตัวเองโดนน้ำพัดคงหายไปกับความมืดแน่ๆ



พวกเราเดินทางใกล้ถึง รพ. บางสะพาน กระแสน้ำไหลเชี่ยวตัดขาด รพ.



  กระแสน้ำบนถนนเส้นทางหลักไม่สูงเท่ากับในซอยลัด  แต่ความเชี่ยวยังรุนแรงเหมือนเดิม   อีก 500  เมตรเราจะถึง รพ. บางสะพาน   แต่เรามีเวลาเพียง  30  นาทีจะต้องติดตั้งอุปกรณ์รอรายงานสดเข้ารายการ  ผมและพี่ๆ   ตัดสินใจเดินล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพี่จ้อนก็ขับรถตามหลัง  ส่องไฟให้พวกเราเดินฝ่าสายน้ำเชี่ยว   พวกเรามาถึงบริเวณด้านหน้า รพ. บางสะพานที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก



พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำท่วมบางสะพาน



     ถ้ากระแสน้ำมันโหดร้ายกับพวกเราในคืนนั้น เราอาจจะจมหายไปกับสายน้ำที่เชี่ยว  หรือไม่รถข่าวของพวกเราก็อาจจะถูกพัด  อุปกรณ์ทุกอย่างเสียหาย  แต่เมื่อผ่านมันมาได้   เราก็สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า ถ้ามันมีงานที่ยาก อยากน้อยเราก็มีความทรงจำที่ยากกว่า


บทพิสูจน์น้ำท่วมที่อำเภอบางสะพานในปีนั้น   จึงกลายเป็นบทพิสูจน์ของทีมข่าวในปีนี้


ทุกคนอดนอนทั้งคืนเพื่อรอรายงานสดที่อำเภอคีรีมาศ


   เราปักหลักรายงานสดสภาพน้ำท่วมในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยว และหลากมาตามทุ่ง  เราใช้เรือลุงธนู  ชาวบ้านผู้มีน้ำใจบรรทุกอุปกรณ์รายงานสด ไปยังจุดที่วิกฤตท่วมหนัก เพื่อให้ได้ภาพที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมากที่สุด



เราเดินทางกลับหลังจากรายงานสด ที่อำเภอคีรีมาศเสร็จ


  ไม่ว่าอุปสรรคปัญหามันจะเกิดขึ้นหนักหนาสาหัสเพียงใด    ผมคอยบอกกับทีมเสมอว่า เราจะผ่านไปด้วยกัน  ผ่านไปพร้อมกับรอยยิ้ม แม้จะผิดหรือสมหวัง เราจะยิ้มให้กับอุดมการณ์ของเรา





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เกือบถอดใจดื้อๆ

นี่ผมจะถอดใจตั้งแต่เห็นแผนที่เส้นทางขึ้นไปยังโรงเรียนเลยจริงหรือ? จุดที่พวกผมต้องเดินทางเข้าออกโรงเรียนมันไกลและยากมากนะ รถยนต์บรรทุกอุปกรณ์อาจขึ้นไปไม่ได้ ครูจา ครูนุ ครูหนึ่งในโรงเรียนแม่อมกิ  ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เตือนพวกเราด้วยความเป็นห่วง ช่วงนี้คือฤดูฝน การเดินทางเข้าสู่โรงเรียนยากกว่าฤดูแล้ง 3-5 เท่า   ครูทั้ง 3 คนต้องเดินทางขึ้นไปโรงเรียนของตัวเองที่อยู่บนดอยสูง พวกเขาจะไม่เดินทางคนเดียวเป็นเด็ดขาด แต่ไม่ทันจะถึงไหนฤดูฝนก็เริ่มเล่นงานพวกเราซะแล้ว แค่เห็นเส้นทางในแผนที่ ผมอยากถอดใจให้ได้ แผนที่แส้นทางจากจุดเริ่มไปถึงจุดหมายปลายทางบนเขาสูง ถ่ายกันทั้งที่ฝนตกนี่แหละ สภาพถนนตรงเนินเขาระหว่างฝนตกหนัก ครูทั้งสามคนต้องเดินทางต่อ เพราะลูกๆของพวกเขารออยู่ที่โรงเรียน การเดินทางต่อไม่ใช่เรื่องง่าย  ชาวบ้านบนดอยขอติดรถมอเตอร์ไซต์ไปกับครูจา ถ้าลุงเดินเท้าคงใช้เวลาอย่างต่ำ 1-2 วัน การเดินทางผ่านเนินเขาในฤดูฝนไม่ใช่เรื่องง่าย ความลื่นไถลเป็นอุปสรรคสำหรับเรา ผมเริ่มถอนหายใจ ทั้งที่นั่นเป็นแค่การเริ่มต้น ซ้ำร้ายกว่านั้น รถยนต์บรรทุกอุ

เส้นทางโหดในหัวใจ

ไม่มีเส้นทางสายไหนโหดในหัวใจเท่ากับแถบชายแดนไทยพม่าทางตอนเหนือของไทย ฟังดูความคิดผมคล้ายคนฝังใจอย่างบอกไม่ถูกบนเส้นทางสายนี้แถบ อาจเป็นเพราะเราไม่คุ้นชินกับภูมิประเทศที่นั่น และเมื่อคุณตัดสินใจขึ้นไปสิ่งเดียวที่คุณทำได้คือการยอมรับกติกาของธรรมชาติ ทิวเขาจากฝั่งไทยสลับซับซ้อนไต่ระดับไปยังแนวเทือกเขาสูง  แม่น้ำสาละวินกั้นระหว่างสองประเทศระยะทางเพียง 20 กิโลเมตรขึ้นไป  ใช้เวลาเดินทางเกือบครึ่งวัน ภาษาชาวบ้านเรียก "เส้นทางแม้ว" มันคือเส้นทางของชาวไทยภูเขาบนความสูงชัน ดูเหมือนระยะทางใกล้แต่ใช้เวลาเดินทางนานกว่าพื้นที่ราบอย่างน้อย 3-5 เท่า จุดหมายปลายทางแต่ละครั้ง คือพื้นที่รอยต่อชายแดนเมียนมา  เส้นทางถนนดินจากฝีมือชาวบ้าน ตัดคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ฤดูฝนชาวบ้านบนดอยสูงในถิ่นทุรกันดารไม่มีใครอยากเดินทางขึ้น-ลงจากเขา หลายครอบครัวถึงขั้นขนข้าวสารอาหารแห้งจากด้านล่างไปเก็บไว้กินในระยะ 3 เดือน หลังจากฤดูฝนย่างก้าวมาเยือน เส้นทางไหล่เขาใน ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงลงมาซื้ออาหารในตลาด ต.แม่วะหลวง  อ.ท่าสองยาง จ. ตาก ฝนคล้ายเพื่อนสนิท

คนเรามันต้องบ้ากันบ้าง...

"ไอ้บ้า"      ใครๆ ก็เรียกผมแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก  ทั้งที่ผมแทบไม่รู้เลยว่าทำไมเขาหาว่าผมบ้า  เพียงแค่เด็กคนหนึ่งมีความคิดไม่เหมือนคนอื่น จนถูกเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวในหมู่บ้านมองว่า "บักขวางโลก"   บางทีเขาไม่ให้ผมเข้ากลุ่มด้วยก็หลายหน  จะเรียกว่า "บักขี้ดื้อ"  คงไม่แปลก    ผมชื่อ หิน - ชนะชัย  แก้วผาง  ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามของบริษัทมีเดียสตูดิโอจำกัด (บริษัทลูกของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7  สี  )   ผลิตรายการข่าวเช้านี้ที่หมอชิต และรายการประเด็นเด็ด 7 สี   กว่า 8 ปีแล้วที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับการเป็นนักข่าว  นับตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาภาษาไทย จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2552  หลายคนอาจสงสัยว่าสาขาที่ผมเรียนมันเกี่ยวอะไรกับสายทีวี ทั้งที่ผมเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์โดยตรง   แต่สิ่งที่เรียนมามันเน้นหนักไปทางวิชาการเขียนมากกว่าด้วยซ้ำ  ผมควรต้องไปเป็นนักเขียน นักข่าวหนังสือพิมพ์ นักเขียนคอลัมน์ ฯลฯ อะไรแบบนั้นมากกว่า   ใช่ครับ ผมก็คิดแบบนั้น   แบบที่หลายคนคิด แต่ใครจะไปรู้ว่า  4