ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คนเรามันต้องบ้ากันบ้าง...

"ไอ้บ้า"

     ใครๆ ก็เรียกผมแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก  ทั้งที่ผมแทบไม่รู้เลยว่าทำไมเขาหาว่าผมบ้า  เพียงแค่เด็กคนหนึ่งมีความคิดไม่เหมือนคนอื่น จนถูกเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวในหมู่บ้านมองว่า "บักขวางโลก"   บางทีเขาไม่ให้ผมเข้ากลุ่มด้วยก็หลายหน  จะเรียกว่า "บักขี้ดื้อ"  คงไม่แปลก

   ผมชื่อ หิน - ชนะชัย  แก้วผาง  ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามของบริษัทมีเดียสตูดิโอจำกัด (บริษัทลูกของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7  สี  )   ผลิตรายการข่าวเช้านี้ที่หมอชิต และรายการประเด็นเด็ด 7 สี




  กว่า 8 ปีแล้วที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับการเป็นนักข่าว  นับตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาภาษาไทย จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2552  หลายคนอาจสงสัยว่าสาขาที่ผมเรียนมันเกี่ยวอะไรกับสายทีวี ทั้งที่ผมเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์โดยตรง   แต่สิ่งที่เรียนมามันเน้นหนักไปทางวิชาการเขียนมากกว่าด้วยซ้ำ  ผมควรต้องไปเป็นนักเขียน นักข่าวหนังสือพิมพ์ นักเขียนคอลัมน์ ฯลฯ อะไรแบบนั้นมากกว่า

  ใช่ครับ ผมก็คิดแบบนั้น   แบบที่หลายคนคิด แต่ใครจะไปรู้ว่า  4  เดือนของการมาฝึกงานในสายทีวีกับ  4  ปีในการเรียนด้านภาษาอย่างลึกซึ้ง  มันสามารถเปลี่ยนคนคนหนึ่งได้อย่างจริงจังนะ  อยู่ที่เราจะเลือก เพราะบางทีเวลา  4  เดือนมันนานพอที่สามารถทำให้เราฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นนักข่าวทีวีได้จริง

 
เอาจริงๆ มันไม่ได้ง่าย  แต่ไม่ได้ยากสำหรับคนที่มีความฝันและเป้าหมายชัดเจน  ถ้าเราคิดเสมอว่า จุดยืนของเราใช่แล้ว  ต่อไปก็แค่เดินตรงไปหาฝันที่เราตั้งไว้  พูดไปเหมือนจะง่าย แต่อย่างน้อยมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นในสายงานนักข่าวทีวีของผมได้จริงๆ จังๆ

"เอ็งจะเขียนนวนิยายมาส่งหรือยังไง เอ็งไม่ดูภาพที่ได้มาเลย แบบนี้ใช้ไม่ได้นะ"

  ผมจดจำคำสอนนี้จากพี่ชายคนหนึ่งได้เป็นอย่างดี เพราะมันได้กลายเป็นทั้งคำสอน และคำด่า  ที่ทำให้ผมคิดเสมอว่่า ถ้าผมปรับภาษางานเขียนที่เรียนมา เพื่อเล่าภาพให้คนดูเข้าใจ  ผมจะเป็นนักข่าวทีวีได้ตามความฝัน แต่กว่าจะทำได้ทำเป็น  มันไม่ได้แค่นั่งเขียนดูภาพนี่ซิ  มันมีอะไรที่มากกว่านั้น

"คนเรามันต้องบ้ากันบ้าง"

ผมเริ่มนึกถึงคำเปรยของครูพ่อ ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพฑูลย์ ธัญญา  นักเขียนเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์  จากเรื่องก่อกองทราย   ปัจจุบันแก คือศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์   ครูที่เริ่มสอนงานเขียนให้ผมตั้งแต่ย่างก้าวเข้าสู่รั้วมหาลัย


อ. ธัญญา  สังขพันธานนท์  ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์


ผมต้องบ้า  บ้าเพื่อความฝันของผม  ผมเริ่มบ้า


 ความบ้าของผมเกิดขึ้นตั้งแต่การเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับต่อวัน อ่านบทข่าวของพี่ๆ วันละ 20  บท   การโทรหาแหล่งข่าววันละ 10 กว่าคนในวันเดียว  ทั้งที่ไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่เราทำจะสร้างฝันได้ยังไง?  จนกระทั่งความฝันมันเริ่มเดินทางและโบยบิน

ผมเริ่มห้อยติดรถข่าวไปกับพี่นักข่าว มนตรี  อุดมพงษ์  หรือ พี่มนตรี  ซึ่งปัจจุบัแกเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามที่รายการข่าว 3 มิติ ช่อง  3  แต่ในอดีตแกคือนักข่าวต้นแบบของผมในรายการประเด็นเด็ด  7   สี และรายการเจาะเกาะติดทางช่อง  7

"สิ่งที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้เร็ว คือการสังเกต และจดจำ"

 นั่นเป็นคำสอนง่ายๆ จากพี่ชายร่วมสาขาสถาบันเดียวกัน  อาจเป็นเพราะเรื่องนี้ที่ทำให้ผมเริ่มยกแกเป็นต้นแบบ  เอาง่ายๆ  พี่ทำแบบไหน ผมก็ทำแบบนั้น ถ้าพูดง่ายก็คือ เลียนแบบนั่นแหละ

 ผมพยายามเลียนแบบพี่มนตรี แม้ว่าจะเลียนแบบได้ไม่เหมือนมาก  แต่อย่างน้อยก็เป็นวิธีเรียนรู้ทางลัดที่ผมคิดว่าวิธีนี้ดีสุด   จากนั้นผมก็ค่อยๆ เลียนแบบพี่นักข่าวเก่งๆ อีกหลายคน จนพี่ๆ  บอกว่า ผมมีลูกบ้า


 มนตรี อุดมพงษ์  ผู้ประกาศข่าวภาคสนาม รายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3


กระทั่งปลายปี 2552 หรือประมาณ 8  ปีก่อนหน้านี้   ผมถูกเรียกตัวให้ไปเป็นนักข่าวในบริษัทมีเดียออฟมีเดีย  หรือ บริษัทมีเดียสตูดิโอ  จำกัด ในปัจจุบัน   เท่ากับว่า ผมเป็นทั้งน้องฝึกงาน และได้เป็นพนักงานในบ้านหลังนี้  ทั้งที่ผมยังไม่รับปริญญาด้วยซ้ำไป   หนักกว่านั้น คือ ผมยังทำข่าวไม่ค่อยจะเป็นเอาซะเลย  

 "ถ้าเอ็งเริ่มหาประเด็นได้ เอ็งต้องวางโครเรื่อง และพูดคุยประสานแหล่งข่าวให้ได้  เอ็งไม่ใช่เด็กฝึกงานแล้ว เอ็งจะเล่นๆ ไม่ได้แล้ว เอ็งเป็นพนักงาน เป็นนักข่าวตัวจริงแล้ว   ต่อไปงานของเอ็งไม่ได้ทำเก็บไว้ดูเล่น แต่มันต้องได้ออกอากาศ ถ้างานไม่ได้ออกอากาศ นั่นแสดงว่า ข่าวเอ็งไม่เข้าตากองบรรณาธิการ"

ผมรู้สึกกดดันตัวเองเมื่อผู้บริหารเปรยบอกกับผมแบบนั้น เอาจริงๆ ผมไม่ใช่คนกล้าหาญอะไรมาก และยังไม่พร้อมจะลงสู่สนามข่าว  ผมยังไม่พร้อม ผมยังคิดว่าผมเป็นน้องฝึกงาน แต่เมื่อคิดถึงความฝัน  คิดถึงโอกาสที่พี่ๆได้มอบให้เด็กบ้านๆอย่างผม  มันก็ควรจะแลกด้วยความบ้า

ลูกบ้าของผมเดินทางอีกขั้น

"รับแจ้งจาก จส. 100  มีคนร้ายหลบหนีด่านตรวจค้น ขับรถวิ่งหลบหนีไปทางเกษตร-นวมินทร์  ขณะนี้ตำรวจ และอาสาสมัครกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด"

ผมกับพี่วัช  อดีตนักข่าวอวุโสรายการประเด็นเด็ด 7 สี กำลังขับรถอยู่บนเส้นทางเกษตร-นวมินทร์พอดี

""ไอ้หิน  เอ็งหยิบกล้อง  แล้วถ่าย  เอาเสียงวิทยุด้วยนะ"

พี่วัชบอกผม ระหว่างที่แกขับรถทำความเร็วประกบท้ายรถตำรวจ และคนร้าย

"แล้วเอ็งทำไมเอากล้องไปจ่อกับลำโพรงวิทยุแบบนั้น ? พี่ให้แกถ่ายข้างหน้า"

"เห็นพี่บอกให้น้องเอาเสียง  ผมก็เลยเอากล้องมาจ่อกับลำโพรง"

"มึงนี่มันบ้าจริงๆ   เอาภาพด้วยเสียงด้วย  มึงไม่จ่อลำโพรงกล้องมันก็เก็บเสียง  นี่มันจะถึงแล้ว  คนร้ายวิ่งแล้ว  ไอ้หินมึงลงวิ่งตามถ่ายเลย   วิ่งๆๆๆๆๆๆๆ"

ผมวิ่งตามคนร้าย ที่จอดรถวิ่งหลบหนีไปในป่าหญ้าริมถนน  เสียงปืนดังขึ้น ผมถือกล้องชูเหนือหัว  มือกดบันทึก ตัวผมแอบติดกำแพงรั้ว หลับตา  แต่ภาพที่ได้มา  มันกลายเป็นภาพจริง ที่ตำรวจยิงปะทะกับคนร้ายอยู่นาน


ธวัช  กุลบุตร  พิธีกรรายการนักข่าวบ้านนอก  ที่ช่อง 3 sd



"ผมบ้าแล้ว"

ผมจึงใช้ลูกบ้าให้เกิดประโยชน์กับการเป็นนักข่าวตั้งแต่นั้นมา  ลูกบ้ากับงาน บ้ากับความฝันของตัวเอง


"คนเรามันต้องบ้ากันบ้าง"

 

ความคิดเห็น

Blogger 101 กล่าวว่า
บทความเล่าออกมาได้ดีมากครับ รออ่านบทต่อไปนะครับ :)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เกือบถอดใจดื้อๆ

นี่ผมจะถอดใจตั้งแต่เห็นแผนที่เส้นทางขึ้นไปยังโรงเรียนเลยจริงหรือ? จุดที่พวกผมต้องเดินทางเข้าออกโรงเรียนมันไกลและยากมากนะ รถยนต์บรรทุกอุปกรณ์อาจขึ้นไปไม่ได้ ครูจา ครูนุ ครูหนึ่งในโรงเรียนแม่อมกิ  ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เตือนพวกเราด้วยความเป็นห่วง ช่วงนี้คือฤดูฝน การเดินทางเข้าสู่โรงเรียนยากกว่าฤดูแล้ง 3-5 เท่า   ครูทั้ง 3 คนต้องเดินทางขึ้นไปโรงเรียนของตัวเองที่อยู่บนดอยสูง พวกเขาจะไม่เดินทางคนเดียวเป็นเด็ดขาด แต่ไม่ทันจะถึงไหนฤดูฝนก็เริ่มเล่นงานพวกเราซะแล้ว แค่เห็นเส้นทางในแผนที่ ผมอยากถอดใจให้ได้ แผนที่แส้นทางจากจุดเริ่มไปถึงจุดหมายปลายทางบนเขาสูง ถ่ายกันทั้งที่ฝนตกนี่แหละ สภาพถนนตรงเนินเขาระหว่างฝนตกหนัก ครูทั้งสามคนต้องเดินทางต่อ เพราะลูกๆของพวกเขารออยู่ที่โรงเรียน การเดินทางต่อไม่ใช่เรื่องง่าย  ชาวบ้านบนดอยขอติดรถมอเตอร์ไซต์ไปกับครูจา ถ้าลุงเดินเท้าคงใช้เวลาอย่างต่ำ 1-2 วัน การเดินทางผ่านเนินเขาในฤดูฝนไม่ใช่เรื่องง่าย ความลื่นไถลเป็นอุปสรรคสำหรับเรา ผมเริ่มถอนหายใจ ทั้งที่นั่นเป็นแค่การเริ่มต้น ซ้ำร้ายกว่านั้น รถยนต์บรรทุกอุ

เส้นทางโหดในหัวใจ

ไม่มีเส้นทางสายไหนโหดในหัวใจเท่ากับแถบชายแดนไทยพม่าทางตอนเหนือของไทย ฟังดูความคิดผมคล้ายคนฝังใจอย่างบอกไม่ถูกบนเส้นทางสายนี้แถบ อาจเป็นเพราะเราไม่คุ้นชินกับภูมิประเทศที่นั่น และเมื่อคุณตัดสินใจขึ้นไปสิ่งเดียวที่คุณทำได้คือการยอมรับกติกาของธรรมชาติ ทิวเขาจากฝั่งไทยสลับซับซ้อนไต่ระดับไปยังแนวเทือกเขาสูง  แม่น้ำสาละวินกั้นระหว่างสองประเทศระยะทางเพียง 20 กิโลเมตรขึ้นไป  ใช้เวลาเดินทางเกือบครึ่งวัน ภาษาชาวบ้านเรียก "เส้นทางแม้ว" มันคือเส้นทางของชาวไทยภูเขาบนความสูงชัน ดูเหมือนระยะทางใกล้แต่ใช้เวลาเดินทางนานกว่าพื้นที่ราบอย่างน้อย 3-5 เท่า จุดหมายปลายทางแต่ละครั้ง คือพื้นที่รอยต่อชายแดนเมียนมา  เส้นทางถนนดินจากฝีมือชาวบ้าน ตัดคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ฤดูฝนชาวบ้านบนดอยสูงในถิ่นทุรกันดารไม่มีใครอยากเดินทางขึ้น-ลงจากเขา หลายครอบครัวถึงขั้นขนข้าวสารอาหารแห้งจากด้านล่างไปเก็บไว้กินในระยะ 3 เดือน หลังจากฤดูฝนย่างก้าวมาเยือน เส้นทางไหล่เขาใน ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงลงมาซื้ออาหารในตลาด ต.แม่วะหลวง  อ.ท่าสองยาง จ. ตาก ฝนคล้ายเพื่อนสนิท